การจัดห้องพระเสริมมงคลที่อยู่อาศัย

หน้าแรก ฮวงจุ้ย การจัดห้องพระเสริมมงคลที่อยู่อาศัย

เข้าชม 15,936


ฮวงจุ้ย คนไทยตั้งแต่สมัยโบราณนิยมการทำบุญควบคู่ไปกับความเชื่อใน เรื่องของวัตถุมงคลและสิ่งศักดิ์สิทธิ์มาช้านาน ไม่ว่าจะมีพิธีมงคลใด ๆ จะมีการนำเอาพิธีกรรมทางศาสนามาเกี่ยวข้องด้วยเสมอ ไม่ว่าจะเป็นพิธีแต่งงาน หรือ ทำบุญขึ้นบ้านใหม่ เพื่อเป็นการเสริมสร้างความเป็นสิริมงคลให้แก่ผู้ที่อยู่อาศัยทั้งครอบครัว


        ปัจจุบันสภาพที่อยู่อาศัยเปลี่ยนไปตามกาลเวลาและมีพื้นที่จำกัด ซึ่งสิ่งนี้อาจจะเป็นปัญหาที่ทำให้ผู้อยู่อาศัยไม่ทราบถึงขั้นตอนและความ เหมาะสมในการจัดวางพระพุทธรูป หรือ วัตถุมงคลต่าง ๆ ที่ตนเคารพในที่ทางที่ถูกที่ควร วันนี้มีคำแนะนำเกี่ยวกับการจัดวางมาฝากครับ

        ท่านมีความศรัทธาและต้องการบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์จำนวนหลายๆองค์พร้อมๆกัน ก็ไม่ควรจะตั้งบนชั้น หิ้ง หรือโต๊ะหมู่บูชาชุดเดียวกัน ควรจะแยกออกเป็นชุดๆ อาจจะจัดเรียงโต๊ะหรือหิ้งให้เรียงกันจากซ้ายไปขวา หรือมีฉากกั้น จะเป็นการเหมาะสมกว่า

        การแยกโต๊ะสำหรับบูชาพระ ควรแบ่งตามนิกาย - ลัทธิ ให้ชัดเจน ดังต่อไปนี้

        หิ้งศาสนาพุทธ - ประดิษฐาน พระพุทธรูป (ศาสนาพุทธ) เช่น พระพุทธเจ้า และพระอัครสาวก (พระสารีบุตร พระโมคคัลลานะ พระอานนท์ พระสีวลี ) พระบรมสารีริกธาตุ พระธาตุของพระพุทธสาวก พุทธเจดีย์จำลอง และพระเกจิอาจารย์ ฯลฯ

        หิ้งเทพเจ้าจีน - ประดิษฐานเทพเจ้าของจีน เช่น พระสังขจาย พระแม่กวนอิม ฮก-ลก-ซิ่ว แปดเซียน จี้กง ไฉ่ซิงเอี้ย เทพเจ้ากวนอู มังกร เต่า หงษ์ วัตถุมงคลแก้ฮวงจุ้ย ฮู้ ยันต์จีนต่าง ๆ ฯลฯ

        หิ้งศาสนาฮินดู – ประดิษฐานมหาเทพ – มหาเทวีของศาสนาพราหมณ์ - ฮินดู เช่น พระพิฆเนศ พระพรหม พระนารายณ์ พระศิวะ พระแม่อุมาเทวี พระลักษมี ฯลฯ

        หิ้งกษัตริย์ไทย - พระ บรมฉายาลักษณ์กษัตริย์ของไทย เช่น พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ สมเด็จพระบรมราชินีนาถฯ เสด็จพ่อ ร.5 กรมหลวงชุมพรเขตอุดม สมเด็จพระนเรศวรมหาราช พ่อขุนรามคำแหง พระนางสุพรรณกัลยา ฯลฯ

        (โต๊ะนี้สำหรับชาวไทย ส่วนใหญ่จะอนุโลมให้ตั้งอยู่รวมกับโต๊ะหมู่บูชาของพระพุทธเจ้าได้ โดยตั้งให้มีระดับชั้นต่ำกว่าพระพุทธเจ้า)


        หิ้งวัตถุมงคล – วัตถุมงคลอื่น ๆ เช่น ผ้ายันต์ ตะกรุด นางกวัก กุมารทอง รักยม เหล็กไหล ชูชก เงาะป่า ปลัดขิก มีดหมอ เขี้ยวเสือ ควายธนู ฯลฯ (ชุดนี้ควรตั้งให้เหลื่อมต่ำลงกว่าทั้ง 4 หิ้งที่กล่าวมา)

        1. หากมีการบูชาพระพุทธรูปพร้อมทั้งเทพเจ้าไม่ว่าจะเป็นจีนหรือพราหมณ์ - ฮินดูควรจัดวางแยกกันครับ โดยทางฝั่งจีนจะถือทางซ้ายเป็นใหญ่ และทางพราหมณ์ - ฮินดูจะถือทางฝั่งขวาเป็นใหญ่ เพราะฉะนั้นเราควรจะนำพระพุทธรูปมาไว้ตรงกึ่งกลางระหว่างเทพเจ้าทั้งสองนี้ โดยมีเทพจีนอยู่ซ้ายและเทพฮินดูอยู่ขวาและมีช่องว่างห่างกันเพียงเล็กก็พอใน กรณีสถานที่จำกัดครับ

        2. ควรหันหน้าหิ้งพระไปทางทิศตะวันออก ตะวันออกเฉียงเหนือหรือทิศเหนือเท่านั้นครับ

        3. บริเวณที่ตั้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ควรเช็ดถูทำความสะอาดอย่างสม่ำเสมอและควรมี แสงสว่างเข้าถึง ในเวลากลางคืนควรเปิดไฟดวงเล็ก ๆไว้หนึ่งดวงเพื่อให้มีแสงสว่างอยู่ตลอดเวลา หมั่นดูแลอย่าให้มีฝุ่นจับ

        4. ใต้หิ้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ห้ามวางถังขยะหรือเก็บสิ่งของอื่น ๆ จะให้การเงินมีปัญหา

        5. สิ่งสำคัญไม่ควรตั้งสิ่งศักดิ์สิทธิ์หันตรงกับประตูเป็นอันขาด เพราะพลังของสิ่งศักดิ์สิทธิ์จะถูกรบกวนทำให้พื้นที่ส่วนนี้ขาดความสงบ ซึ่งส่งผลให้คนในบ้านมีอารมณ์ที่แปรปรวนได้

        6. ด้านหน้าสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ไม่ควรมีราวแขวนผ้าหรือราวตากผ้า เพราะจะทำให้โชคลาภและการเงินฝืดเคือง

        7. สิ่งศักดิ์สิทธิ์ตรงกับประตูห้องน้ำถือ เป็นการไม่เคารพทำให้เงินทองทรัพย์สินรั่วโหล

        8. สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ห้ามอิงผนังห้องส้วม ห้องเก็บขยะ เพราะจะทำให้พลังลดน้อยลง

        9. การวางสิ่งศักดิ์สิทธิ์บนตู้เย็น ตู้เสื้อผ้าในกรณีพื้นที่จำกัดไม่ส่งผลดีทางด้านความมั่นคงของหน้าที่การงาน และความสัมพันธ์ของผู้ที่บูชา ควรหาซื้อหิ้งพระเล็กมาจัดวางให้ดูเป็นสัดส่วนและหันหน้าไปทางทิศมงคล ซึ่งปัจจุบันหิ้งพระแบบนี้มีการออกแบบให้ดูสวยงามและดูกลมกลืนกับ เฟอร์นิเจอร์สไตล์โมเดิร์นอย่างลงตัว

        ห้องพระหรือ หิ้งที่จัดวางสิ่งศักดิ์สิทธิ์เป็นสิ่งสำคัญสำหรับอำนาจบารมีและความมั่นคง ของผู้อยู่อาศัย หากตัวบ้านใหญ่โตแต่ไม่มีห้องพระที่เป็นสัดส่วนก็ถือว่าบ้านนั้นขาดพลังมงคล และพลังปัดเป่าสิ่งชั่วร้ายที่ดี เปรียบได้กับแอร์ตัวเล็กหนึ่งเครื่องเปิดกระจายให้เย็นไปทั้งหลังความเย็นคง กระจายไม่ทั่วถึง